วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

3. กสทช. ควัก 427 ล้านจ่ายอาร์เอส แลกถ่ายสดบอลโลกผ่านฟรีทีวีทั้ง 64 คู่ หลังศาล ปค.สูงสุดตัดสินให้แพ้คดี!

3. กสทช. ควัก 427 ล้านจ่ายอาร์เอส แลกถ่ายสดบอลโลกผ่านฟรีทีวีทั้ง 64 คู่ หลังศาล ปค.สูงสุดตัดสินให้แพ้คดี! 
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 มิ.ย.2557
ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 8 ในเครืออาร์เอส แถลงความร่วมมือถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ทั้ง 64 นัด หลัง กสทช.ยอมจ่ายค่าชดเชยลิขสิทธิ์แก่อาร์เอส 427.01 ล้านบาท(12 มิ.ย.)
       เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีที่บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเม้นท์ จำกัด ในเครือบริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) ฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป(มัสต์แฮฟ) ที่ กสทช.บังคับใช้ให้อาร์เอสในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ต้องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครบทั้ง 64 คู่ผ่านฟรีทีวี ขณะที่อาร์เอสต้องการถ่ายทอดผ่านฟรีทีวีแค่ 22 คู่เท่านั้น โดยศาลเปิดให้คู่กรณีแถลงปิดคดี จากนั้นได้แจ้งให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 มิ.ย. เวลา 13.00น.
      
        ทั้งนี้ นายวิบูลย์ กัมมาระบุตร ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แถลงความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่มีผลผูกพันต่อการวินิจฉัยคดีขององค์คณะศาลปกครองสูงสุด โดยเห็นว่าควรกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ให้อาร์เอสชนะคดี เนื่องจากที่ผ่านมาอาร์เอสไม่ได้ชี้แจงและแสดงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากประกาศมัสต์แฮฟของ กสทช. อีกทั้งเห็นว่า ประโยชน์ของสาธารณชนที่จะไม่ได้รับชมรายการกีฬาสำคัญ เป็นเรื่องสำคัญกว่าประโยชน์ของเอกชนคืออาร์เอสเพียงรายเดียว จึงเห็นควรนำฟุตบอลโลกทุกคู่มาถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี
      
        หลังตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นดังกล่าว นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า หากบริษัทถูกตัดสินให้แพ้คดี เป็นไปได้ว่า อาจต้องจอดำทั้งประเทศ หรือไม่สามารถถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2014 ได้ เพราะขัดต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(ฟีฟ่า) 
      
        นางพรพรรณ ยังเผยด้วยว่า อาร์เอสได้ทำสัญญากับบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อให้ทรู วิชั่นส์เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ครบทั้ง 64 คู่ โดยอาร์เอสจะอนุญาตให้นำช่องรายการ “เวิลด์คัพ” ซึ่งเป็นรายการที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ครบทั้ง 64 คู่ ไปออกอากาศบนโครงข่ายของทรู วิชั่นส์ แต่อำนาจในการควบคุมดูแลการถ่ายทอดสด และการบริหารลิขสิทธิ์ยังคงเป็นของอาร์เอส
      
        วันต่อมา(11 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังคำพิพากษา ปรากฏว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่มีนายประวิตร บุญเทียม เป็นตุลาการเจ้าของสำนวนคดี ได้พิพากษาให้เพิกถอนข้อ 3 ของประกาศ กสทช.เกี่ยวกับกฎมัสต์แฮฟ ที่กำหนดให้รายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะต้องให้บริการเป็นรายการทั่วไป เนื่องจากประกาศดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิของบริษัท อาร์เอส ที่ได้รับอนุญาตจากฟีฟ่าให้เป็นผู้เผยแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี ค.ศ.2014 แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เนื่องจากประกาศดังกล่าวของ กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ขณะที่บริษัท อาร์เอส ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ก่อนที่จะมีประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดยังคงให้ประกาศ กสทช.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไปได้ในกรณีอื่น
      
        ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา นายสุพรรณ เสือหาญ ทนายความฝ่ายกฎหมายบริษัท อาร์เอส บอกว่า อาร์เอสพึงพอใจแล้วกับคำพิพากษา และจะดำเนินงานตามแผนธุรกิจเดิมที่ได้วางไว้ต่อไป และอนุญาตให้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ผ่านฟรีทีวีเพียง 22 คู่ตามเดิม ขณะที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.บอกว่า น้อมรับคำตัดสินของศาล พร้อมยืนยัน กสทช.ได้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการรับบริการโทรทัศน์โดยเท่าเทียมกันอย่างเต็มความสามารถแล้ว
      
        อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีรายงานจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ว่า มีนโยบายจะร่วมกับอาร์เอสในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 เพื่อคืนความสุขให้คนไทยตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยจะมีการเจรจาและแถลงยืนยันถึงความร่วมมือในวันที่ 12 มิ.ย.
      
        ต่อมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยว่า คสช.ได้ประสานมายัง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ให้หาแนวทางคืนความสุขให้คนไทยทั้งประเทศในการรับชมฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีครบทั้ง 64 คู่ โดย กสทช.ได้เชิญอาร์เอส ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์มาหารือกันถึงมูลค่าในการจัดซื้อลิขสิทธิ์ต่อจากอาร์เอส เพื่อไปถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีทุกคู่ โดยเบื้องต้น กสทช.จะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส.) ไปชำระการซื้อต่อค่าลิขสิทธิ์จากอาร์เอส
      
        จากนั้นวันต่อมา(12 มิ.ย.) ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินที่จะจ่ายค่าชดเชยลิขสิทธิ์แก่อาร์เอสจำนวน 427.01 ล้านบาท โดยนำเงินจากกองทุน กทปส. ทั้งนี้ นายฐากร เผยว่า เงินจำนวนดังกล่าว คิดจากค่าเสียโอกาสของทางอาร์เอสในการขายกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม “บอลโลก” ซึ่งอาร์เอสนำเข้ามา 1 ล้านกล่อง แต่ขณะนี้ขายไปได้ประมาณ 3 แสนกล่อง รวมทั้งคำนวณวงเงินที่อาร์เอสได้รับเพิ่มเติมจากส่วนต่างๆ เช่น เงินที่ได้รับจากค่าบริหารจัดการลิขสิทธิ์ให้แก่เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม และรายได้ที่อาร์เอสได้รับจากค่าโฆษณา และว่า ตอนแรก กองทุน กทปส.เสนอตัวเลขมา 492.481 ล้านบาท ขณะที่อาร์เอสเสนอ 766.51 ล้านบาท แต่ กสทช.เห็นควรให้จ่าย 427.01 ล้านบาท
      
        ทั้งนี้ วันเดียวกัน(12 มิ.ย.) พล.ท.ชาตอุดม ติตถะสิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้แถลงข่าวความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ได้แก่ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และช่อง 8 ในเครืออาร์เอส ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ครบทั้ง 64 นัด โดยช่อง 7 จะถ่ายทอดสด 29 นัด ,ช่อง 5 ถ่ายทอดสด 38 นัด และช่อง 8 ถ่ายทอดสด 56 นัด (บางนัดถ่ายทอดมากกว่า 1 ช่อง)
      
        ด้านนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส พูดถึงกรณีที่อาร์เอสได้รับการประสานจาก กสทช.เพื่อนำสัญญาณภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีครบทั้ง 64 คู่ โดยจะได้รับค่าชดเชยจาก กสทช.427 ล้านบาทว่า ในมุมของอาร์เอส เงินจำนวนดังกล่าวถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย เมื่อเทียบกับเงินคาดการณ์รายได้ และเงินที่ต้องใช้ในการเยียวยาลูกค้าที่ซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม “บอลโลก” หรือลูกค้ากล่องทีวีดาวเทียม “ซันบอกซ์” ที่ซื้อช่อง “เวิลด์คัพ” ไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม อาร์เอสยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้ควรมองเรื่องประโยชน์ของบริษัทเป็นเรื่องรอง “การที่ยอมรับข้อตกลงนี้ แม้เราจะไม่ขาดทุน แต่ได้ไม่คุ้มเสีย ตรงที่เสียโอกาส ไม่สามารถหารายได้ตามแผนธุรกิจที่พึงจะได้ในอนาคต การทำข้อตกลงครั้งนี้ เราไม่ได้ขายลิขสิทธิ์ สิทธิในการบริหารจัดการยังเป็นของเราอยู่” 
      
        ในเวลาต่อมา นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส เผยหลังหารือกับคณะอนุกรรมการ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ถึงแนวทางการเยียวยาผู้บริโภคที่ซื้อกล่องบอลโลกว่ามี 3 แนวทาง คือ1.ให้ลูกค้านำกล่องบอลโลกมาแลกคืนกับอาร์เอส โดยจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน 1,500 บาท 2.ลูกค้าที่ซื้อกล่องบอลโลก ให้อาร์เอสตัดช่องเวิลด์คัพออก และจะคืนเงินให้ 299 บาท และ 3.ลูกค้ากล่องซันบ็อกซ์ที่ซื้อช่องรายการเวิลด์คัพ ขอให้ตัดช่องดังกล่าวออกพร้อมรับเงินคืนเต็มจำนวน 299 บาท ส่วนรายละเอียดการเยียวยา ทั้งวัน เวลา และสถานที่ อาร์เอสจะประกาศทางเว็บไซต์บริษัทในวันที่ 16 มิ.ย. หรือภายหลังหารือรายละเอียดปลีกย่อยกับ กสทช.เสร็จสิ้นแล้ว
      
        ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช.ได้ออกมาปฏิเสธกรณีมีข่าวว่า คสช.สั่งให้ กสทช.ใช้เงินกองทุน กทปส.ซื้อลิขสิทธิ์จากอาร์เอสเพื่อให้ฟรีทีวีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครบ 64 นัดว่า คสช.เพียงแค่ประสานให้ทางภาคเอกชนและ กสทช.ได้พูดคุยหารือกันถึงเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเป็นความต้องการของหลายคน แต่ขณะเดียวกันต้องเข้าใจระบบธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งอาจแตกต่างจากเดิม